Thursday, June 4, 2009

วรภัทร ภู่เจริญ

"เพราะชีวิตคนเราจะรอให้อาจารย์ตั้งโจทย์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหาโจทย์มาเอง คิดแล้วทำ ถ้าผิดอาจารย์จะปรับให้"


พวกคุณติดสันดานเด็กกวดวิชา รอคนคาบของทุกอย่างมาป้อนให้ คุณเคยทำตัวเป็นครูกวดวิชามอบความรู้ให้คนอื่นไหม ถ้าคุณรอและตั้งรับ คุณก็เป็นพวกอีแร้ง แต่คุณแย่กว่า คุณเป็นแค่ลูกอีแร้ง คือ รออาหารที่ป้อนให้ แล้วคุณจะไปสู้มหาอำนาจได้ยังไง


ผมสนใจทุกอย่าง ทุกเรื่อง ไม่ได้มั่ว ผมคิดว่า ท่ามกลางพายุที่สับสน ผมจับลมปราณของมันได้ ผมจับได้ทุกวิชา อย่างประวัติศาสตร์สะท้อนอารมณ์และจิตใจคนยุคนั้นๆ ผมคิดต่อว่า ทำไมเขาตัดสินทำแบบนั้น พอมาถึงยุคปัจจุบัน เหตุการณ์ใกล้เคียงกัน ก็นำมาใช้กับการวางยุทธศาสตร์ ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกันหมด หากขึ้นไปที่ต้นแม่น้ำจะเจอเรื่องเดียวกันคือ ตาน้ำ การศึกษาก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้จักอ่านหนังสือ ก็จะเจอแก่นของมัน จะวิพากษ์อะไรก็ได้ เพราะเราเข้าใจ


โดยสันดานแล้ว ผมสนใจทุกอย่าง ทำกับข้าวก็สนใจ อยู่อเมริกาลองไปเป็นกุ๊กร้านอาหาร ตอนนั้นผมไม่ค่อยมีเงิน และคิดว่าถ้าเราต้องทำกับข้าวกินทุกวัน จะทำอย่างไรให้อร่อย ผมก็ไปเป็นลูกมือ พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ ตอนนั้นผมเป็นนักเคมีเทคนิค พอมาจับศาสตร์เรื่องอาหาร ก็ใช้ศิลปะมาผสมผสาน ผมได้เป็นกุ๊กร้านอาหารไทยของเพื่อน ช่วยทำกับข้าวและบริหารร้านอาหาร โหราศาสตร์ผมก็สน แต่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อการทำนาย ผมชอบสังเกตคน ทำให้ง่ายในการบริหาร อ่านเกมขาด อย่างเจอสาวราศีกันย์ เธอชอบความมีระเบียบ ความสะอาด ผมเอาหลายๆ ศาสตร์มารวมกันแล้วบูรณาการ

พวกอเมริกันเก่งเรื่องกระบวนการคิด ทำงานเป็นทีม ทำคนเดียวไม่ได้หรอก จึงยากในการขโมยความคิด


ผมได้เรียนรู้จากนาซามาก เวลาสอนอาจารย์จะโยนหนังสือมาให้เล่มหนึ่ง อ่านภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่เราอ่านเร็วอยู่แล้ว ที่นั่นใช้วิธีสอนเหมือนไม่สอน ซักถามและวิเคราะห์กันหนักๆ อย่างเช่น คุณเห็นใบไม้ที่โคนกิ่งไม้ ลองคำนวณว่ามีแรงกี่ปอนด์

ผมค่อนข้างจับฉ่ายแมน ชอบขับรถ เดินป่า ธรรมชาติ และศิลปะ ตอนอยู่นาซาผมเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จนไม่มีวิชาอะไรให้เรียนแล้ว ผมก็เลยเกิดคำถามว่า วิทยาศาสตร์เองก็มั่วเยอะ ใช้วิธีการอนุมานและตั้งสมมติฐานเยอะ ก็เลยถามตัวเองว่า ฉันกำลังทำอะไรอยู่ พอได้อ่านบทความของไอสไตน์ เขียนไว้ก่อนตายว่า ศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดคือ พุทธะ ผมก็งง! ตอนนั้นผมยังเป็นคริสเตียน ผมต้องขอบคุณท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเขียนเชื่อมโยงพุทธกับคริสต์ได้ดีมาก สุดท้ายแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน แต่วิธีการเข้าหามีหลายวิธี ไม่ต่างจากการขึ้นภูเขา พระพุทธเจ้าพูดอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่งมงาย คนมาปฏิบัติธรรมทางพุทธ ถ้าขี้เกียจจะไม่ค่อยเห็นผล



คุณสังเกตผมสิ ผมคุยกับคุณ ไม่ค่อยเปลี่ยนเรื่อง คิดเรื่องเดียว อารมณ์เดียว ผมคิดเป็นระบบ พอเรียนพุทธ ยิ่งคิดเป็นระบบมากขึ้น ผมเคยบวชเป็นพระธุดงค์อยู่ 13 วัน ผมขยันสุดๆ ผมคิดว่าถ้าคนคิดไม่เป็น จะคิดวนเวียน ย้ำคิด ย้ำทำ คิดไม่ตกเป็นเดือน แต่ผมตัดสินใจแล้ว ทำได้เลย ตัดอารมณ์ออกไป ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกับใครว่า ทำไมเราเลือกแบบนี้ ไม่สับสน ผมปรึกษาหลายคนเหมือนทำวิจัยให้ตัวเอง ทำเป็นตารางการตัดสินใจ


ศาสนาพุทธเหมือนโลกกลม นักวิทยาศาสตร์เป็นพวกโลกแบน แล้วไม่ยอมเดินเรือออกไปที่ขอบจักรวาล เ มื่อผมอยากรู้จักพุทธ ก็ต้องศึกษาและปฏิบัติ แรกๆ ก็เชื่อเขาไปก่อน โยนความคิดทิ้งไปก่อน ถ้าพลาดก็ว่ากันใหม่ เวลาหลวงปู่หลวงพ่อสั่งให้ทำ ก็ทำเต็มที่ สุดท้ายพบว่า กายกับจิตคนละตัวกัน อย่าไปหลงกาย กายคือรถผจญภัย ผมก็ทำงานเต็มที่สร้างสมดุลทางโลกกับทางธรรม ถ้ารักษาจิตให้ว่าง ถ้าทำจิตให้เป็นศูนย์หรือว่างก็คือ นิพพาน




งาน หากเวลาทำงานเกิดเบื่อ ก็ให้รู้เท่าทัน แล้วทำงานต่อ ผมสอนเรื่องการเดินจิต ปฏิบัติธรรมด้วย พอสอนเสร็จก็พาไปเดินในป่าช้าที่ขอนแก่น เรื่องศาสนาผมให้เวลาเต็มที่ บางทีก็สอนปฏิบัติที่บ้าน ถ้ามีเวลาว่าง ก็จะพาไปวัด ก่อนอื่นต้องสอนตัวเองและคนรอบข้างให้ได้ก่อน ผมคิดว่า คนไทยฝึกเรื่องใจน้อยไป ตามใจลูกมากไป เด็กไม่เคยถูกสอนให้ควบคุมใจ กลายเป็นว่า ทุกคนอยู่อำเภอที่ไม่น่าอยู่คือ อำเภอใจ ไม่รู้จักควบคุมตัวเอง และแยกไม่ออกว่า ใจเป็นกุศลกับอกุศลต่างกันอย่างไร

No comments:

Post a Comment